ทฤษฎีบทพีทาโกรัส

วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

การคิดและกระบวนการคิด

การคิดและกระบวนการคิด
               การคิดเป็นพฤติกรรมการทำงานทางสมองของมนุษย์ในการเรียบเรียงข้อมูลความรู้และความรู้สึก
นึกคิดที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ผ่านการดู การอ่าน การฟัง การสังเกต การสัมผัส และการดึงข้อมูลความรู้ที่บรรจุอยู่ในสมองเดิมตามประสบการณ์การเรียนรู้ที่ถูกสั่งสมมา

            ทักษะการคิดจึงเป็นพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงการกระทำออกมาได้อย่างชัดเจนมองเห็นเป็นรูปธรรม เช่น พฤติกรรมการสังเกต แสดงออกด้วยการเพ่งดูอย่างพินิจพิเคราะห์ หรือพฤติกรรมการเปรียบเทียบ
เป็นการนำลักษณะของสิ่งของตั้งแต่สองอย่างขึ้นไปมาเปรียบเทียบกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงสิ่งเหมือนหรือ
สิ่งต่าง เป็นต้น

            ดังนั้น การคิดจึงเป็นพฤติกรรมซับซ้อนที่มีลักษณะแยกย่อยแตกต่างกันไป เช่น การคิดวิเคราะห์
การคิดสร้างสรรค์ การคิดไตร่ตรองโดยใช้วิจารณญาณ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานของร่างกาย ประสาทสัมผัสทั้ง 5 และการเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลที่รับรู้เข้ามาใหม่กับข้อมูลเก่าที่ถูกบรรจุอยู่ในคลังสมองของคนเราตลอดเวลา

            หากเปรียบเทียบการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์กับสมองมนุษย์หรืออาจเปรียบได้กับสมองคนกับสมองกล จะพบว่า การทำงานของสมองคน ประกอบด้วยความชาญฉลาด 3 ลักษณะ คือ

1.              ความสามารถในการเรียนรู้และสืบค้น (Tactical Intelligence) ทั้งในรูปแบบการสังเกต การค้นหา การซักถาม การทดลองปฏิบัติ เป็นต้น

2.              ความสามารถในการแยกแยะคุณค่า (Emotional Intelligence) ทั้งในรูปแบบการตัดสิน การลงมติ การแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่เห็นด้วยหรือต่อต้าน หรือวางเฉย เป็นต้น

3.              ความสามารถในการประมวลเนื้อหาสาระ (Content Intelligence) จากเรื่องราวที่เรียนรู้ใหม่ผสมผสานกับประสบการณ์เดิมที่ถูกจัดเก็บอยู่ในสมอง โดยผ่านกระบวนการกลั่นกรอง และสังเคราะห์เป็นความรู้ใหม่ ที่มักประกอบไปด้วยความเข้าใจ เหตุผล และทัศนคติ ทั้งในเชิงบวกหรือเชิงลบ ซึ่งความรู้สึกนึกคิดต่อเรื่องราวต่างๆ นี่เองที่สมองกลของคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานได้เหมือนสมองของมนุษย์
การฝึกฝนกระบวนการเรียนรู้แก่ผู้เรียนจึงต้องกระตุ้นการทำงานและเสริมสร้างความสามารถของสมองทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมา จึงจะบังเกิดผลการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ คือ บังเกิดความรู้ความเข้าใจที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น บังเกิดความชำนาญในทักษะและการปฏิบัติได้คล่องแคล่วขึ้น และที่สำคัญบังเกิดค่านิยมคุณธรรมที่งอกงามขึ้นในจิตใจของผู้เรียน
อ้างอิง  :  เอกรินทร์  สี่มหาศาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น